Sunday, August 7, 2011

วัตถุแห่งหนี้

ความทั่วไป

คำว่า "วัตถุแห่งหนี้" หรือ " Subject of Obligation" เป็นชื่อของบทบัญญัติในหมวด๑ ลักษณะ๑ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ๒

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๔ บัญญัติว่า "ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้"

มูลหนี้ในที่นี้คือ ๑.นิติกรรมสัญญา
                        
                       ๒.นิติเหตุ  - ละเมิด
                                       - จัดการงานนอกสั่ง
                                       - ลาภมิควรได้
              
                และ ๓.บทบัญญัติของกฎหมาย

จากมาตรา ๑๙๔ สิ่งที่เจ้าหนี้จะเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ได้นั้น อาจเป็นการกระทำในเชิงบวก (Positive Act) เช่น การกระทำบางอย่าง การชำระเงิน การโอนทรัพย์สิน หรือาจเป็นการกระทำในเชิงลบ (Negative Act) เช่น การงดเว้นการกระทำการบางอย่างก็ได้ (๑) สิ่งที่เจ้าหนี้อาจเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ได้ เป็นสาระแห่งหนี้ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า "วัตถุแห่งหนี้" นั่นเอง

วัตถุแห่งนี้แบ่งเป็นประเภทได้ ดังนี้

๑.การกระทำการ คือ การที่ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่เจ้าหนี้ เช่น
  • ก. ต้องสร้างอาคารให้แก่ ข.ตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร
๒.งดเว้นกระทำการ คือ การที่ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องงดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่เจ้าหนี้ เช่น
  • ก. และ ข. ต่างก็เปิดร้านค้าปลีกอยู่คนละอำเภอกัน และทั้งคู่ตกลงทำสัญญาห้ามค้าขายแข่งกัน คือ ก. จะไม่มาเปิดร้านค้าขายปลีกในอำเภอที่ร้านค้าปลีกของ ข.ตั้งอยู่ และ ข. ก็ไม่มาเปิดร้านค้าขายปลีกในอำเถอที่ร้านค้าขายปลีกของ ก. ตั้งอยู่
_______________

(๑) Marcel Planiol, Treatise on the Civil Law, Vol2, 11th ed. (U.S.A. Louisiana State Law Institute, 1939), pp.93-94 อ้างถึงใน โสภณ รัตนากร, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป, หน้า ๗๑
รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา. "องค์ประกอบของหนี้" ใน คำอธิบายกฎหมายลักษณะหนี้. หน้า ๑๙ - ๒๐. พีรพล ศรีสิงห์, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๕๓.

No comments:

Post a Comment